3. ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือพิพัฒนนิยม หรือวิวัฒนาการนิยม(Progressivism)
เป็นปรัชญาการศึกษาที่ยึดหลักการของปรัชญาสากลสาขาปฏิบัติการนิยม โดย ชาลส์ เอส เพียซ (Charles S. Pierce) โดยมีความเชื่อว่า นักเรียนเป็นบุคคลที่มีทักษะพร้อมที่ปฏิบัติงานได้ ครูนั้นเป็นผู้นำทางในด้านการทดลองและวิจัย หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประสบการณ์ต่าง ๆ ของสังคมเช่น ปัญหาของสังคม รวมทั้งแนวทางที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ ปรัชญาปฏิบัติการนิยมให้ความสนใจอย่างมากต่อการ “ปฏิบัติ” หรือ “การลงมือกระทำ” ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ “การคิด” สนใจแต่การกระทำเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของปรัชญานี้ก็คือ“การนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ” เพราะเห็นว่า ลำพังแต่เพียงการคิดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดี และการกระทำที่เหมาะสม
พิพัฒนาการนิยมเกิดจากทัศนะทางการศึกษาของ รุสโซ (Jean Jacques Rouseeau) ชาวอเมริกา เขาเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาเด็กไปในทางที่ดี ต่อมามีนักการศึกษาชาวสวีเดน ชื่อ เพสตาโลสซี (Johann Heinrich Pestalozzi) มีแนวคิดว่า การพัฒนาหมายถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการจะยึดอะไรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้ หรือความเชื่อย่อมเป็นการถ่วงพัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เพสตาโลสซี่จึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เน้นพัฒนาการของผู้เรียน
แต่ความคิดของนักการศึกษาทั้งสองมาแพร่หลายเมื่อ จอนห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม คือ แทนที่จะเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางสติปัญญาของผู้เรียน ดิวอื้ หันมาเน้นใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวผู้เรียนแทน โดยเน้นว่าผู้เรียนควรเข้าใจและตระหนักในตนเอง (Self-realization) ในการที่คนเราจะไปได้นั้น จำต้องรู้เสียก่อนว่าตนเองมีความสนใจอะไร หรือตนเองมีปัญหาอะไร ความสนใจและปัญหานี้เองที่ใช้เป็นหลักยึดในการจัดการศึกษา ซึ่งการที่เด็กจะพัฒนาได้นั้นต้องเกิดจากการพยายามแก้ปัญหา และสนองความสนใจของตนเอง ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดวิธีการในการพัฒนาหลักสูตร และการสอนแบบเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ดิวอี้เชื่อว่าในกระบวนการที่เด็กพยายามแก้ปัญหาหรือสนองความสนใจของตนเองนั้น เด็กจะต้องลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งและในกระบวนการนี้เอง การเรียนรู้จะเกิดขึ้น หลักการนี้ทำให้เกิดวิธีการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) หรือ เรียนด้วยการปฏิบัติ (Learning by Doing) ซึ่งเขาได้ทดลองให้เด็กเรียนรู้จากการกระทำในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เด็กได้รับอิสระในการริเริ่มความคิดและลงมือทำตามที่คิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในการจัดการเรียนการสอน และจากหลักการที่ว่า การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง คนเราจะหยุดพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการเรียนรู้ของคนเราจึงมิได้หยุดอยู่แต่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่จะดำเนินไปตลอดชีวิตของผู้เรียน ทำให้เกิดความเชื่อว่า การศึกษาคือชีวิต(Education is Life)
นอกจากความมุ่งหมายของการศึกษาที่จะพัฒนาตัวผู้เรียนตามที่กล่าวมาแล้ว ปรัชญานี้ยังนำเรื่องของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยการเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถในการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย จริยธรรม ศาสนา และศิลปะอีกด้วย แต่การเน้นทางด้านสังคมของปรัชญานี้ไม่ค่อยหนักแน่นและชัดเจนเหมือนกับปรัชญาอื่น ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป
การพัฒนาหลักสูตรตามแนวปรัชญานี้ จะเริ่มด้วยคำถามที่ว่า “ผู้เรียนต้องการเรียนอะไร” จากนั้นครูผู้สอนจึงจัดแนวทางในการเลือกเนื้อหาวิชา และประสบการณ์ที่เหมาะสมมาให้ เน้นการปลูกฝังการฝึกฝนอบรมในเรื่องดังกล่าวโดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (Experience) เนื้อหาวิชาเหล่านี้จะเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และเกี่ยวกับสภาพและปัญหาในสังคมด้วย
ในการสอนครูจะไม่เน้นการถ่ายทอดวิชาความรู้แต่เพียงประการเดียว แต่จะคอยเป็นผู้ดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กในการสำรวจปัญหา ความต้องการ และความสนใจของตนเอง คอยแนะนำช่วยเด็กในการแก้ปัญหา แนะนำแหล่งต่าง ๆ ที่เด็กจะไปค้นหาความรู้ที่ต้องการจะเน้นให้เด็กมีโอกาสปฏิบัติ ส่วนการการประเมินผลจะนำพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วมประมวลด้วย โดยไม่เน้นการวัดความเป็นเลิศทางสมองและวิชาการเหมือนปรัชญาเช่นที่แล้วมา
การศึกษาฝ่ายพิพัฒนาการนิยมจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาจัดการเนื้อหาวิชาแบบเก่า วิธีการในการจัดหลักสูตรเช่นนี้เรียกว่า“ยึดประสบการณ์เป็นศูนย์กลาง” หรือ “ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ผิดกับพวกสารนิยมและสัจวิทยานิยม ที่จัดหลักสูตรโดยถือ “วิชาเป็นศูนย์กลาง”
กระบวนการเรียนการสอนยึดหลักความสนใจของผู้เรียนที่จะแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ เป็นประการสำคัญ ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอน จึงส่งเสริมการฝึกหัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อฝึกแก้ปัญหาโดยอาศัยการอภิปรายซักถาม และการถกปัญหาร่วมกันซึ่งเป็นลักษณะของการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะพิจารณาตัดสินใจ โดยอาศัยประสบการณ์และผลที่เกิดจากการทำงานเป็นกลุ่ม ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ข้อสังเกตปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนาการนิยม มีดังนี้
1. ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานของความรู้
2. สภาพการณ์ของทุกสิ่งในโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง
3. กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กรู้ว่าจะคิดอย่างไร
4. กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเน้นการคิดอย่างไร มากกว่าคิดอะไร
5. โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคม และเป็นสถาบันต้นแบบของประชาธิปไตย
6. เสรีภาพภายใต้กฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย
7. กระบวนการศึกษาเน้นกระบวนการกลุ่ม (Group Process) และมาตรฐานของกลุ่ม (Group Norms)
ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม
นักการศึกษาหลายคนกล่าวว่าปรัชญาสาขานี้ทำให้เด็กมีความรู้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ขาดระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้เด็กขาดทัศนคติที่จะอนุรักษ์สถาบันใด ๆ ของสังคมไว้ต่อไป ทำให้การศึกษาด้อยในคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านสติปัญญา การสอนที่เน้นความต้องการและความสนใจของเด็กนั้น เด็กส่วนมากยังขาดวุฒิภาวะพอที่จะรู้ความสนใจของตนเอง ธรรมชาติของเด็กชอบเล่นมากกว่าชอบเรียน การจัดหลักสูตรให้สนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ความสนใจและความต้องการบางอย่างของผู้เรียนอาจจะไม่มีประโยชน์ในชีวิต การเรียนการสอนที่เน้นการปรับตัวของนักเรียนให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง